พระโพธิสัตว์กวนอิม หรือที่คนไทยเราเรียกกันทั่วไปว่า เจ้าแม่กวนอิม เข้ามาในประเทศไทย พร้อมกับการเผยแพร่พระพุทธศาสนานิกายมหายาน นิยมเรียกชื่อหลายชื่อ เช่น กวนอิมผู่สัก เดิมเรียกว่า กวนซีอิมผู่สัก แต่เนื่องจากมีเสียงไปพร้องกับ หลี่ซีหมิงจักรพรรดิจีนสมัยราชวงศ์ถัง จึงตัดคำว่า ซี ออกเหลือเพียง กวนอิมผู่สัก (ผู่สัก แปลว่า พระโพธิสัตว์)ไต่ซื้อ ไต่ปุยผู่สัก หมายถึงพระโพธิสัตว์กวนอิม ผู้ทรงเมตตากรุณาอันยิ่งใหญ่ ด้วยทรงมีปณิธานอันยิ่งใหญ่ที่จะช่วยเหลือสรรพสัตว์ที่ตกอยู่ในห้วงทุกข์แห่งขั้น “หากยังมีสัตว์โลกตกทุกข์ได้ยาก แม้เพียงคนเดียว จะไม่ขอบรรลุพุทธภูมิ” พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวรประกอบด้วย อวโลกิตะ หมายถึง ผู้มองมายังเบื้องล่าง และ อิศวรแปลว่า ผู้เป็นใหญ่ มักแปลรวมว่า ผู้เพ่งมองปริเวทนาของมวลสรรพสัตว์ ในสายตาของชาวพุทธท่านจะเป็น “กวนอิมโพธิสัตว์พระผู้เมตตามหาการุณย์ช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์” เรื่องราวของพระอวโลกิเตศวรเมื่อแรกเข้าสู่ประเทศจีนรวม พ.ศ.610 ในสมัยพระเจ้าฮั่นเม่งตี้ จักรพรรดิองศ์ที่ 17 แห่งราชวงศ์ฮั่น ยังเป็นมหาบุรุษ จนถึงปลายราชวงศ์ใต้-เหนือ(หนานเป่ยเฉา)ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บ้านเมืองวุ่นวายถึงขั้นมิคสัญญี พระพุทธศาสนากลับได้รับการนับถืออย่างมากโดยเริ่มจากภาคเหนือแผ่ลงใต้ ในช่วงปีพ.ศ.990 คนจีนในภาคเหนือ 9 ใน 10 คน นับถือพุทธศาสนา และในสมัยราชวงศ์เป่ยเว่ยนี่เองที่มีการเจาะภูเขา สลักและประดับ พระพุทธรูปด้วยของมีค่ามากมาย ที่หยุนกัง และหลงเหมิน ช่วงนี้เองที่พระอวโลกิเตศวรได้เปลี่ยนเป็นสตรีเพศ ซึ่งสอดรับกับความต้องการความเมตตากรุณาที่ได้รับความทุกข์ยากจากการกดขี่ทารุณและการทำสงคราม การเปลี่ยนจากมหาบุรุษมาเป็นสตรีเพศของอวโลกิเตศวรพระโพธิสัตว์ ตามคัมภีร์ได้กล่าวว่าท่านสามารถแปลงจากธรรมกายเดิมไปได้อีก 32 ธรรมกาย แต่ตามประวัติศาสตร์เชื่อว่าเกิดจากความพยายามที่จะรอดพ้นจากการกลืนกลายของลัทธิเต๋าจึงทำให้เกิดพระโพธิสัตว์ที่เป็นหญิง ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ในหนึ่งปีมีวันสำคัญของท่าน 3 วัน คือ วันประสูติ วันที่ 19 เดือน 2 วันตรัสรู้ วันที่ 19 เดือน 6 และวันออกบวช วันที่ 19 เดือน 9
เนื่องจากพระโพธิสัตว์กวนอิม เป็นพระโพธิสัตว์ที่เมตตากรุณา จึงเป็นที่เคารพบูชาของมหาชนในหลายประเทศทั่วเอเชียนับแต่โบราณ ทำให้ตำนานของพระโพธิสัตว์กวนอิม มีความเป็นมาหลากหลายตำนานพื้นบ้านที่นิยมกล่าวขานถึงก็คือ ตำนาน “เมี่ยวชันบรรลุธรรม” และในการสร้างรูปเคารพท่านมักจะมีเด็กหญิงชายคู่หนึ่งอยู่ข้างกาย เรียก “กิมท้งเง็กนึ่ง” เด็กหญิงคือ หลงหนี่ เป็นธิดาพญามังกรมีสติปัญญามาแต่เล็ก อายุ 8 ขวบก็สำเร็จเป็นพุทธะ (มีดวงตาเห็นธรรม-ผู้เรียบเรียง)และช่วยพระโพธิสัตว์กวนอิมโปรดเวไนยสัตว์ ปรากฏกาย เป็นกุมารีอยู่ทางด้านขวา เด็กชายคือ ชั่งไฉถงจื่อ(สุธนกุมาร) เป็นบุตรเศรษฐีคนหนึ่งในบุญนคร เกิดมามีทรัพย์สินเงินทองมากมาย แต่ก็เห็นเป็นสิ่งไร้ค่า ปฏิญาณตนว่าจะบำเพ็ญให้สำเร็จเป็นพระโพธิสัตว์ สุธนกุมารได้รับคำแนะนำจากมัญชูศรีโพธิสัตว์ให้ไปคารวะศึกษาจากอาจารย์ 53 ท่าน(กัลยาณมิตร 53)สุดท้ายได้รับกราบพระโพธิสัตว์กวนอิมเป็นอาจารย์ที่โปตะละกะคีรี จนสำเร็จเป็นโพธิสัตว์และเพื่อช่วยเหลืออาจารย์โปรดเวไนยสัตว์จึงแสดงธรรมกายเป็นกุมาร อยู่ทางด้านซ้าย ตำนานพื้นบ้านของพระโพธิสัตว์กวนอิมที่เล่าสืบกันมามีดังนี้ ได้เล่าขานกันมาว่า เจ้าแม่กวนอิม เดิมกำเนิดเป็นเจ้าหญิงชื่อว่าเจ้าหญิงเมี่ยวชัน ราชธิดาองค์เล็กของกษัตริย์เมี่ยวจวง แห่งอาณาจักรซิงหลิง เจ้าหญิงเมี่ยวซันมีนิสัยเมตตากรุณาต่อสัตว์ทั้งหลายตั้งแต่เด็ก มีพระทัยใฝ่ใจที่จะออกบวช เพื่อพ้นจากทุกข์ตามคำสอนของพระพุทธศาสนา แต่พระบิดาคือ กษัตริย์เมี่ยวจวง ผู้มีจิตใจโหดร้ายชอบการเข่นฆ่าและทำสงครามไม่ยินยอม กลับบังคับให้เจ้าหญิงเมี่ยวชันเลือกคู่ครอง เจ้าหญิงเมี่ยวชันก็ยืนกรานที่จะออกบวช ไม่ว่าพระบิดาจะใช้อุบายต่างๆนานามาหลอกล่อเกลี้ยกล่อมอย่างไรก็ไม่สำเร็จจึงเกิดพิโรธที่มีผู้ขัดต่ออำนาจของตนจึงได้ประหารเจ้าหญิงเมี่ยวชันด้วยการรัดคอ ทันทีที่เจ้าหญิงเมี่ยวชันสิ้นลม พระภูมิเจ้าที่ได้แปลงร่างเป็นเสือมารับร่างเจ้าหญิงเป็นอยู่ที่เกาะศักดิ์สิทธิ์แห่งทะเลตะวันออกที่นั้นเจ้าหญิงเมี่ยวชันได้บำเพ็ญภาวนาจนบรรลุโพธิญาณรู้แจ้งในสัจธรรม ต่อมากษัตริย์เมี่ยวจวงได้เกิดเป็นโรคผิวหนังเกิดแผลเน่าทั้งกายรักษาอย่างไรก็ไม่หาย เจ้าหญิงเมี่ยวชันได้ทราบด้วยญาณว่าพระบิดาป่วยด้วยผลแห่งกรรมที่ทำมาและเห็นหนทางที่จะนำพระบิดาได้ก้าวพ้นทุกข์ได้จึงได้ให้หลวงจีนชันไฉ่ไปอาสารักษาโรคโดยสละดวงตาและแขนทั้งสองข้างของตนเพื่อปรุงยา เมื่อกษัตริย์เมี่ยวจวงได้หายจากโรคจึงได้สำนึกในบาปกรรมที่ตนได้ทำไว้ เลิกทำบาปหันมาสร้างกุศล ต่อมาได้สละราชสมบัติดั้นด้นเดินทางมาหาเซียนผู้เสียสละดวงตาและแขนเพื่อปรุงยาโดยไม่รู้ว่าเซียนผู้นั้นคือใคร เมื่อรู้ว่าเซียนผู้อุทิศแขนและดวงตามารักษาตนนั้นคือเจ้าหญิงเมี่ยวชัน ธิดาผู้ที่ตนสั่งประหารชีวิตก็สะเทือนใจสำนึกในบาปบุญคุณโทษ เกิดดวงตาเห็นธรรม ด้วยบุญกุศลที่เจ้าหญิงเมี่ยวชันได้บำเพ็ญเพียร บันดาลให้ดวงตาและแขนที่สละไปแล้วกลับงอกขึ้นมาดังเดิม และนับจากนั้นมาเจ้าหญิงเมี่ยวชันก็ได้เป็นพระโพธิสัตว์กวนอิม พระผู้ช่วยให้สัตว์รอดพ้นความทุกข์เดือดร้อน เป็นผู้ได้ปริเวทนาแห่งสัตว์โลก(อวโลกิเตศวร) และเป็นที่เคารพ กราบไหว้ สืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้
การศึกษาประวัติเจ้าแม่กวนอิม ควรทำความเข้าใจว่า เป็นการศึกษาประวัติพระโพธิสัตว์ ซึ่งจะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต และอย่าหยุดเพียงแค่นี้ ควรศึกษาธรรมะหรือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าด้วย จะทำให้จิต-ปัญญาเราปลอดโปร่ง เป็นอิสรไม่ยึดติดเพียงแค่พระโพธิสัตว์
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น