ผู้นำไทย-อินโดฯ เห็นพ้อง แก้ปัญหาโรฮิงญาระดับภูมิภาค (ไทยรัฐ)
ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในระหว่างการเยือนประเทศอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 20-21 ก.พ. โดยในช่วงเช้า วันนี้ (21 ก.พ.) นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์วีรชน และจะเดินทางไปยังสำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อกล่าวสุนทรพจน์และเยี่ยมชมสำนักงาน เวลา 13.05 น. นายกรัฐมนตรี และ คณะเดินทางออกจากกรุงจาการ์ตา เที่ยวบินที่ TG434 และ เดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เวลา 16.35 น. สำหรับ เมื่อวานนี้ (20 ก.พ.) นายกรัฐมนตรี ได้พบปะทวิภาคีกับประธานาธิบดี ซูซิโล บัมบัง ยุดโดโยโน ของอินโดนีเซีย โดยกล่าวหลังหารือว่า ผลการหารือเต็มคณะร่วมกันเป็นไปด้วยดีอย่างยิ่ง เพราะทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การขยายตัวในเรื่องของการค้าอยู่ในระดับที่น่าพอใจมาก เรื่องที่ได้หารือจะมีเรื่องหลัก ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทวิภาคี และการทำงานในระดับภูมิภาค ทั้งนี้ ในประเด็นทวิภาคี นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้ง 2 ฝ่าย ต้องการขยายการค้าการลงทุน และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้มีการพูดถึงลู่ทางดังกล่าวหลายช่องทาง ที่จะสามารถทำให้เกิดการขยายตัวได้ ประการแรกคือข้อตกลงทางการค้า ซึ่งกำลังจะดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อยุติ เพื่อให้การค้าการลงทุนมีความสะดวกมากขึ้น 2. ความร่วมมือในกรอบสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นความร่วมมือที่ยังสามารถขยายไปได้อีก โดยเฉพาะสิ่งที่ไทยได้เสนอไป คือ หากมีการเชื่อมโยงการเดินทางทางอากาศ คือ เที่ยวบินที่เชื่อมโยงในพื้นที่สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ ก็น่าจะเป็นช่องทางหนึ่ง ที่ช่วยเพิ่มพูนเรื่องการค้าการลงทุนได้ 3. ปัญหาการประมง หลังจากที่อินโดนีเซียมีการปรับกฎระเบียบ ก็มีผู้ประกอบการ และชาวประมงของไทย ที่ต้องการจะเข้าไปทำการประมงในอินโดนีเซีย ซึ่งแนวทางขณะนี้คือ ภายใต้กฎระเบียบนั้น ก็คือ การจะเข้ามาในลักษณะของการร่วมทุน ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ในส่วนของสินค้าประมง และที่ได้เสนอกันมา และตรงกันทั้ง 2 ฝ่าย คือ ขั้นตอนจากนี้ไปคงหากรอบความร่วมมือโดยเฉพาะการร่วมทุน และหาผู้ที่สนใจจะเข้ามาเป็นหุ้นส่วนการลงทุนทั้งสองฝ่าย ทั้งในด้านการแปรรูป และการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ชาวประมงไทยมีโอกาสมากขึ้นในอินโดนีเซีย
ในด้านการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะขยายไปถึงความร่วมมืออื่นๆ มีการพูดถึงการประชุมสุดยอดอาเซียน การขยายความริเริ่มเชียงใหม่ และข้อตกลงเกี่ยวกับการใช้เงินสำรองเข้ามารวมกัน เพื่อเป็นช่องทางในการช่วยเหลือประเทศในภูมิภาค ที่มีความจำเป็นในด้านการเงิน ขณะเดียวกันไทยและอินโดนีเซียจะไปประชุม G 20 ที่ลอนดอน และได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน ซึ่งมีความเห็นที่ตรงกันว่า ต้องการไปส่งสัญญาณให้ชัดว่า การแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของทุกประเทศ นั้นต้องไม่นำไปสู่เรื่องของการกีดกันทางการค้า และต้องคำนึงเรื่องของการรักษาการไหลเวียนทั้งเงินทุน การค้า และการลงทุนของประเทศกำลังพัฒนาด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงปัญหาภาคใต้ของไทย ซึ่งอินโดนีเซียมีส่วนสำคัญในการช่วยอธิบาย ให้กับ OIC ให้เข้าใจสภาพปัญหาที่แท้จริง ทั้งนี้ อินโดนีเซียได้ยืนยันว่า ได้ให้การสนับสนุนแนวทางการทำงาน แก้ไขปัญหาของไทย และถือว่าเป็นปัญหาภายใน ทำให้การทำงานของไทยสะดวกขึ้น
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ขณะที่ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองโรฮิงญา ได้เห็นตรงกันว่า เป็นปัญหาที่ต้องแก้ในระดับภูมิภาค จึงสนับสนุนให้นำเรื่องดังกล่าว สู่กระบวนการบาหลี และนำไปปรึกษาในกรอบอาเซียน หรือมีการจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาระหว่างประเทศที่ได้รับผลกระทบ หรือเกี่ยวข้องกับปัญหานี้ และว่าไทยพร้อมให้ตรวจสอบ และไม่ขัดข้องที่จะให้ยูเอ็นเอชซีอาร์ เข้าดูแลทั้งนี้เห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น ทุกประเทศต้องร่วมมือกัน ซึ่งไทยและอินโดนีเซีย จะหารือปัญหาโรฮิงญาร่วมกันในเดือนมีนาคมนี้